รายละเอียดโครงการ
งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว
(ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์)
ช่วงที่ 1
การศึกษารายละเอียดความเหมาะสม (Feasibility Study) ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ออกแบบ จัดทำรายงาน การศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุน โครงการ และทำหน้าที่ที่ปรึกษา ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (หมวด 4 การจัดทำและดำเนินโครงการ ส่วนที่ 1 การเสนอโครงการ) และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาดำเนินงาน 12 เดือน
ช่วงที่ 2
การจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาเพื่อคัดเลือกผู้รับจ้างงานก่อสร้างโครงการ เอกสารประกวดข้อเสนอเพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน งานโยธา งานระบบรถไฟฟ้า งานบำรุงรักษา และงานให้บริการเดินรถ และทำหน้าที่ที่ปรึกษาตามที่ กำหนดในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (หมวด 4 การจัดทำและดำเนินโครงการ ส่วนที่ 2 การคัดเลือกเอกชน) ระยะเวลาดำเนินงานตามแผนงาน รฟม.
พื้นที่ศึกษาและแนวเส้นทางโครงการ
พื้นที่ดำเนินการ/พื้นที่ศึกษาโครงการ
มุ่งเน้นพื้นที่ศึกษาตามแนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนา อาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นบริเวณตลาดเซฟวัน (ถนนมิตรภาพ) และมีจุดสิ้นสุดบริเวณสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ บ้านนารีสวัสดิ์ รวมระยะทางประมาณ 11.17 กิโลเมตร รวมทั้งบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงในระยะประมาณ 500 เมตรจากแนวกึ่งกลาง เส้นทาง ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
แนวเส้นทางโครงการ
จุดเริ่มต้นที่บริเวณตลาดเซฟวัน (ถนนมิตรภาพ) ฝั่งมุ่งหน้าเข้าตัวเมืองนครราชสีมา ตามแนวถนนมิตรภาพ ผ่านแยกปักธงชัย แล้วเบี่ยงไปตามทางลอดด้านข้างสะพานข้ามทางรถไฟ เลี้ยวลอดผ่านตอม่อของสะพานข้ามทางรถไฟ แล้วมุ่งหน้าตามถนนสืบศิริ ซอย 6 เลี้ยวซ้ายผ่านทางรถไฟไปตามแนวถนนสืบศิริ จากนั้นเลี้ยวขวา ตรงบริเวณวัดใหม่อัมพวันไปตามแนวถนนมุขมนตรี ผ่านสวนภูมิรักษ์และตลาด 100 ปี โรงเรียนมารีย์วิทยา สถานีรถไฟนครราชสีมา ห้าแยกหัวรถไฟ แล้วมุ่งหน้าไป ตามถนนโพธิ์กลาง จนถึงบริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามถนนราชดำเนินฝั่งคูเมือง จนถึงแยกอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (บริเวณถนนราชดำเนินตัดกับทางหลวงหมายเลข 224) แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 224 ผ่านโรงเรียนเมืองนครราชสีมา วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา โรงเรียนสุรนารีวิทยา และวัดสามัคคีแล้วเลี้ยวซ้ายบริเวณแยกสุรนารายณ์ (ทางหลวงหมายเลข 224 ตัดกับถนนสุรนารายณ์) มุ่งหน้าไปตามถนนสุรนารายณ์ ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานนครราชสีมา ไปสิ้นสุดที่บริเวณสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ บ้านนารีสวัสดิ์
หมายเหตุ : 1) แผนที่แนวเส้นทางจัดทำโดยที่ปรึกษาฯ ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากรายงานฉบับสมบูรณ์การศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่ง สาธารณะ ในเขตเมืองนครราชสีมา โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เมื่อเดือนตุลาคม 2560 2) แนวเส้นทางและตำแหน่งสถานีอาจมีการปรับเปลี่ยนได้ตาม ความเหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับผลการศึกษาของโครงการฯ
เทคโนโลยีระบบขนส่งสาธารณะ
จากผลการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา ได้นำเสนอเทคโนโลยีระบบรางเบา (Light Rail Transit : LRT) เป็นเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกับเมือง นครราชสีมา ด้วยเหตุผลทั้งด้านศักยภาพในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร ความปลอดภัย นอกจากนั้นแล้ว ยังสอดคล้องกับนโยบายของประเทศในการสนับสนุนให้เมืองหลักในภูมิภาคมีการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ หลักที่เป็นระบบราง (ที่มา : รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการศึกษา แผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนา ระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา สำนักงานนโยบายและ แผนการขนส่งและจราจร, 2560)
รูปแบบสถานีเบื้องต้น
การออกแบบพิจารณาถึงการเชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ เพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย ปลอดภัยในทุกช่วงเวลาสามารถรองรับผู้ใช้บริการได้อย่างเพียงพอและเหมาะสม มีความมั่นคงถาวรและ ทนทานต่อการใช้งาน ต้องการการบำรุงรักษาน้อยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับสิ่งอำนวยความ สะดวกสำหรับการใช้ระบบขนส่งสาธารณะและการสัญจรด้วยการเดินเท้าหรือจักรยานบนทางเท้าคุณภาพ เพื่อเข้าสู่สถานีหรือจุดจอด ทั้งนี้ รูปแบบสถานีต้องเป็นมิตรต่อผู้ใช้บริการ โดยคำนึงถึงการใช้งานของ คนทั้งมวล รองรับบุคคลทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงผู้พิการ ผู้ด้อยความสามารถและผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ ในบริเวณสถานีที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่าย การเดินทาง อาจจำเป็นต้องพิจารณาการเชื่อมต่อเพื่อ การใช้งานระหว่างรูปแบบการเดินทางและลักษณะของ ยานพาหนะแต่ละประเภทอีกด้วย (ที่มา : รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการศึกษา แผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนา ระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา สำนักงานนโยบายและ แผนการขนส่งและจราจร, 2560)
ศูนย์ควบคุมและซ่อมบำรุง
ศูนย์ซ่อมบำรุงเป็นพื้นที่เพื่อการปฏิบัติการ หน้าที่หลักประการแรกเป็นที่จอดพักของขบวนรถ และหน้าที่ถัดไปเพื่อการปฏิบัติการ และบำรุงรักษา ภายในศูนย์ซ่อมบำรุง จึงประกอบไปด้วยอาคารต่างๆ หลายรูปแบบ เช่น โรงซ่อมบำรุง อาคารบริหาร ศูนย์ควบคุมการเดินรถ อาคารประกอบเพื่อการสันทนาการฝึกอบรม และพักอาศัย สำหรับการจัดวางผังบริเวณ จัดตามความเหมาะสม โดยมีเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับความจุเนื้อที่ ระยะ ความสูง และมิติของพื้นที่ใช้สอย การวางผังบริเวณและรูปแบบ ของศูนย์ควบคุมและซ่อมบำรุง (Depot) (ที่มา : รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการศึกษา แผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนา ระบบขนส่งสาธารณะ ในเขตเมืองนครราชสีมา สำนักงานนโยบายและ แผนการขนส่งและจราจร, 2560)
ที่จอดรถ
ที่จอดรถเป็นองค์ประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่ง มวลชน ซึ่งช่วยให้ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนการเดินทางจากรถส่วนบุคคลเป็นรถไฟฟ้าเพื่อเดินทาง เข้าสู่ใจกลางเมืองได้
ดังนั้น เส้นทางการเข้าออกจึงออกแบบให้สอดคล้องกับลักษณะการสัญจรในปัจจุบัน เพื่อให้ สามารถรองรับการจราจรที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจำนวนรถรับจ้าง รถประจำทาง รถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์